สาระดีๆ จากคุณหมอโรงพยาบาลเด็ก

ความรู้เรื่องโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในวัยเด็ก คือ ประมาณร้อยละ 70-80 ของโรคหัวใจในเด็กทั้งหมด พบในทารกแรกเกิด 8 ใน 1,000 คน ในจำนวนนี้พบว่าเป็นโรคหัวใจพิการขั้นวิกฤต (Critical Congenital Heart Disease; CCHD) ร้อยละ 25 โดยในแต่ละปีจะมีทารกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นราว 5,000 คน และเป็นโรคหัวใจขั้นวิกฤตถึง 1,250 คน เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจำนวนหนึ่ง จะยังไม่แสดงอาการและอาจตรวจไม่พบความผิดปกติในสัปดาห์แรก 

สาเหตุของโรค

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีสาเหตุมาจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน ส่วนน้อย (ร้อยละ 10) ที่พบว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ครอบครัวที่มีบุตรป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด บุตรคนต่อๆ ไปจะมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสูงขึ้นกว่าปกติ อาการแสดงมีได้หลายรูปแบบ เช่น หอบเหนื่อย เลี้ยงไม่โต ฟังได้เสียงหัวใจผิดปกติ ตัวเขียว หัวใจวาย เป็นลมหมดสติ หรืออาจมีภาวะช็อก เป็นต้น โดยแบ่งเป็น 4 ชนิด 
ชนิด
ตัวอย่างโรค
รูรั่วในช่องต่างๆของหัวใจ
  • ไม่มีอาการตัวเขียว
  • มีอาการตัวเขียว 
  • รูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องบน (ASD), รูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องล่าง (VSD), เส้นเลือดเกินนอกหัวใจ (PDA)
  • มีเลือดไปปอดน้อยผิดปกติ เช่น Tetralogy of Fallot (TOF), Pulmonary atresia with ventricular septal defect (PAVSD), pulmonary Atresia with intact Ventricular Septum (PAIVS)
  • มีเลือดไปปอดมาก เช่น Transposition of the Great Arteries (TGA), Total Anomalous Pulmonary Venous Returns (TAPVR), Truncus Arteriosus (TA), Atrioventricular-Septal Defect (AVSD)
  • มีเลือดคั่งในปอด เช่น Hypoplastic Left Heart Syndrome (HLHS), Shone’s complex 
ทางเดินเลือดตีบหรือลิ้นหัวใจตีบ 
  • ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (AVS), ลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบ (PVS), เส้นเลือดแดงเลี้ยงร่างกายตีบ (CoA) 
กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
  • เส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 
หัวใจเต้นผิดจังหวะ 
  • เต้นช้า/เต้นเร็วผิดปกติ

การรักษา

หากสังเกตพบว่ามีอาการ ควรรีบไปพบกุมารแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาในทันที การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ โดยในบางรายสามารถหายเองได้ เช่น มีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องบน/หรือห้องล่างที่มีขนาดเล็ก บางรายสามารถรักษาโดยทางยา แต่หากมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น 


เรื่องราวดีๆ โดย

นพ.วรการ พรหมพันธุ์
กุมารแพทย์โรคหัวใจ
สถาบันสุขภาพเด็กฯ